วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

ชีวประวัติครู ทัศนัย พิณพาทย์


 ครูทัศนัย  พิณพาทย์




"หากปืนผาหน้าไม้ในมือทหารผู้กล้า คือเครื่องมือรักษาและป้องกันอาณาเขตประเทศให้สงบสุข เครื่องดนตรีไทยก็ไม่ต่างอะไรกับอาวุธทางปัญญา ที่คนดนตรีใช้เป็นเครื่องมือรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทยให้ยืนหยัดอย่างมั่นคงทั้งยังเป็นเครื่องประลองความรู้และชั้นเชิงด้านงานศิลป์ของคนดนตรีไทยอีกด้วย"

        เป็นเวลากว่า ๔๐ ปี ที่ชีวิต “ครูทัศนัย พิณพาทย์” ยังคงมีลมหายใจเข้าออกเป็นดนตรีไทยเสมอมา และมีระนาดเอกเครื่องดนตรีคู่ใจ เป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนบนถนนสายดนตรี จนปัจจุบันกล่าวได้ว่า ครูเป็นหนึ่ง “ดาวนักระนาด” ที่ค้างฟ้าส่องประกายประดับสังคมดนตรีไทย

   ต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตผู้เป็นทายาท ๒ ตระกูลนักดนตรีไทย ตระกูล “พิณพาทย์” และตระกูล “ดุริยประณีต”

“ครูเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เกิดวันศุกร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ คุณพ่อชื่อ พ่อประสงค์ พิณพาทย์ คุณแม่ชื่อ แม่ทัศนีย์ ดุริยประณีต พอลืมตาดูโลกก็เกิดมาทามกลางเสียงดนตรีไทย เพราะตั้งแต่เด็กมาแล้ว อายุ ๔ – ๕ ขวบ จนถึง ๘ ขวบ ได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์มาตลอด” ครูเริ่มต้นบทสนทนาชีวิตด้วยเล่าถึงชาติกำเนิดของตนเอง   ปฏิเสธไม่ได้ ว่าสายเลือดดนตรีในตัวครูทัศนัย พิณพาทย์ หรือ “ป๋าติ๊ก” ที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่กำเนิด ถือได้ว่ามีความเข้มข้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเชื้อสายและเครือญาติทางฝั่งมารดาของครูทัศนัย ทุกท่านล้วนเป็นนักดนตรีที่มีทั้งความรู้ ฝีมือ และมีชื่อเสียงด้วยกันทุกท่าน ตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยายลงมาแล้ว รวมถึงมารดาผู้ให้กำเนิดด้วย เพราะเป็นนักร้องฝีคอดี ลงสมัครการประกวดขับร้องเพลงไทยระดับชาติในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้รับรางวัลที่ ๒ รองจากอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ทั้งยังมีผลงานการบันทึกแผ่นเสียงไว้อีกหลายเพลง     ส่วนบิดาเป็นนักระนาดเอก มีฝีมืออยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศไทยเช่นกัน ได้ชื่อว่าตีระนาดไม้นวมและมโหรีได้ไพเราะ แนวทางในการบรรเลงดี และมีผลงานการบันทึกเสียงไว้มากที่คณะเสริมมิตรบรรเลง  
 จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ครูทัศนัยจะเจริญรอยตามเส้นทางศิลปินอย่างที่บรรพบุรุษของท่านได้เคยปฏิบัติมา แต่ก็เป็นที่หน้าเสียดายยิ่ง ที่ครูทัศนีย์ไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความสำเร็จบนเส้นทางดนตรีของบุตรชายเพียงคนเดียวของท่าน เพราะ ๖ เดือนหลังจากที่ให้กำเนิดครูทัศนัยแล้ว ครูทัศนีย์เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน  ชีวิตการเรียนดนตรีไทยในวัยเด็ก ที่แวดล้อมไปด้วยบรรดาเครือญาติที่เป็นนักดนตรีไทยผู้เยี่ยมยุทธ์ รวมถึงครูผู้อาวุโสทางดนตรีไทยอีกหลายท่าน ที่มีความสัมพันธ์และต่างแวะเวียนเข้าออกบ้านดุริยประณีตอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมให้ครูทัศนัยได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถทางดนตรีไทยอย่างรุดหน้า 
ครูทัศนัยเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก โดยมี ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล หรือหม่อมตู๋ ครูคนสำคัญในชีวิตเป็นทั้งผู้ถ่ายทอดความรู้และเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมมาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้รอบวงปี่พาทย์ และเมื่ออายุย่างเข้า ๑๗ ปี จึงเริ่มเรียนระนาดเอกอย่างจริงจัง
“สมัยนั้นความจริงที่บ้านบางลำพูครูไม่ค่อยได้ไปอยู่ เพราะส่วนมากจะอยู่ที่บ้านพ่อตู๋ ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล คนนี้เป็นคนเลี้ยงครูมา เขามีความสัมพันธ์กับตาและยาย คือตาศุข ยายแถม ครูถือว่าพ่อตู๋แกเป็นคนเก่งคนหนึ่งนะ แต่เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบออกหน้าออกตา วิชาความรู้ไม่มีใครสู้แกหรอก เพลงมอญสามบ้านสี่บ้านพ่อแกได้หมด แกมีความรู้ทุกอย่าง ปี่ถึงเครื่องหนัง”
“พ่อตู๋เป็นคนดุ ครูโดนมาเยอะ แต่ก็ไม่ท้อ สมัยก่อนกับสมัยนี้ดนตรีไทยมันไม่เหมือนกัน สมัยนี้มันมีเทคโนโลยีเครื่องช่วยจำ แต่สมัยครูไม่มีอะไรเลย ใช้สมองอย่างเดียว ซ้อมก็ซ้อมเช้า ตื่นมาไล่ระนาดตั้งแต่ตี ๕ สมัยก่อนนั้นเวลาไล่ระนาดเขาจะจับเวลาด้วยการจุดธูป ครูเริ่มไล่ตั้งแต่ตี ๕ เวลาไม่เกิน ๖ โมงเช้าธูปก็หมดดอก แล้วปักต่อถึงประมาณ ๙ โมงเช้าก็เลิก กลางวันซ้อมเพลงเดี่ยว ตอนเย็นซ้อมเพลงหมู่ เหมือนเรากินข้าว ๓ มื้อ จนต่อมาเขาจับให้เราขึ้นประชัน”
นอกจาก ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล แล้ว ครูทัศนัยยังได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูอาจารย์อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นครูประสงค์ พิณพาทย์ (บิดา) ครูสอน วงฆ้อง ครูเทียบ คงลายทอง ครูสืบสุดและครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต
ชีวิตนักดนตรีไทยของครูทัศนัยเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อครูได้รับหน้าที่เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์คณะดุริยประณีต (บ้านบางลำพู) และชีวิตการเป็นศิลปินได้พุ่งทะยานขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีโอกาสขึ้นประชันครั้งแรกที่เวทีหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ นครปฐม ประชันกับครูทะนง แจ่มวิมล (กรมศิลปากร) และปลัดไพฑูรย์ ทวนทอง    หลังจากงานประชันครั้งแรกครั้งนั้น ครูทัศนัยยังขึ้นประชันปี่พาทย์อีกนับไม่ถ้วน ทั้งงานประชันในรูปแบบหน้าพระที่นั่งและงานประชันในรูปแบบชาวบ้าน แต่คู่ประชันในชีวิตครูทัศนัยที่ขับเคี่ยวศึกการประชันปี่พาทย์มาโดยตลอด และเป็นคู่ประชันที่ถูกอกถูกใจพ่อยกแม่ยกคอเพลงปี่พาทย์มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ครูสมนึก ศรประพันธ์”
ช่วงอายุระหว่าง ๑๙ – ๒๐ ปี ครูทัศนัยขึ้นเวทีประชันกับครูสมนึกถึง ๕ ครั้งด้วยกัน (ครั้งแรกที่วัดพิชัย เขตบางกะปิ ครั้งที่ ๒ ที่วัดบางขัน ครั้งที่ ๓ ที่สวนสัมพันธ์ ครั้งที่ ๔ ที่โรงละครแห่งชาติ (ประชันเดี่ยวเพลงแขกมอญ) และครั้งที่ ๕ ที่โรงละครแห่งชาติ (ประชันเดี่ยวเพลงกราวใน)
“กับสมนึกคู่ประชันคนนี้นะ เพราะอายุเราสองคนมันใกล้เคียงกัน อีกอย่างหนึ่งก็เรียนมาคนละสาย มันเหมือนมีแมวมองจับให้ครูตีกับเขา ตอนนั้นตีที่โรงละคร เดี่ยวเพลงแขกมอญ คนดูก็อยากจะดูคู่เราอีก แต่ก็รู้กันอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร อีกครั้งที่เดี่ยวเพลงกราวใน ตอนแรกอาจารย์เสรีท่านบอกว่า สนามนี้มันหนเดียวแล้วเลิก มันไม่ใช่สนามเขียงหมูนะ แต่ว่าครั้งนั้นเขาก็ยอมให้ เพราะท่าคู่นี้ขึ้นไปเมื่อไหร่ เขาว่าเขาเก็บสตางค์ได้เยอะ ตอนนั้นเก้าอี้เต็มหมด ทั้งเก้าอี้เสริม ข้างล่างข้างบน แต่สมนึกเขาก็ตีดีนะ มีรสมือ มีฝีมือ แต่ว่าทางเขามันอาจจะเรียบไปหน่อย”
ครูทัศนัยมีความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ส่วนสำคัญที่มีผลทำให้ตนเองได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงด้านระนาดเอก คือ “ทางระนาด” ที่ใช้บรรเลง เพราะโลดโผน เอาใจตลาด สามารถเข้าถึงผู้ชมผู้ฟังได้ง่าย  ช่วงที่ครูทัศนัยมีชื่อเสียงด้านการประชันระนาดเอกถึงขีดสุด ธรรมดาของคนหนุ่มไฟแรงย่อมต้องมี “แฟนคลับ” หรือแฟนเพลงที่คอยให้กำลังใจและติดตามผลงานถึงขอบเวทีประชันทุกครั้ง โดยไม่ให้พลาดแม้แต่นัดเดียว
“แม่ยกก็มีนะ ตอนนั้นที่ครูมีชื่อเสียง อายุประมาณ ๒๐ กว่าๆ สมัยนี้เค้ากรี๊ดดนตรีสากลกันอย่างไร สมัยนั้นเวลาครูไปตีที่ไหนเค้าก็กรี๊ดกันอย่างนั้น คอยตามไปเป็นกำลังใจตลอด แต่ว่าเราไม่เคยรู้จักเขาเลยนะ อย่างประชันที่วัดพระพิเรนทร์ คนมายืนชมเต็มไปหมดจนแทบจะขี่คอกัน ตบรางวัลกันก็มี ๕๐๐ บาท สมัยนั้นมันน้อยเสียเมื่อไหร่ล่ะ”
ปัจจุบันในฐานะนักดนตรีชั้นครู ผู้ผ่านสังเวียนประชันอย่างโชกโชน ครูทัศนัยมองนักระนาดเอกกับการประชันปี่พาทย์ในยุคนี้ ว่า
“ครูจะเปรียบระนาดในสมัยนี้ เขาไม่ทันคนสมัยก่อนเลยนะ พื้นฐานต่างๆ กลวิธีต่างๆ บรรพบุรุษครูสอนมาอย่างไร อย่างแรกเลยเราต้องมองว่าเพลงนี้เราควรจะตีอย่างไร เปรียบว่าเสภาอย่างเพลงพม่าห้าท่อน ท่อนแรกเราต้องมีสะเดาะ สะบัด ขยี้ พอสมัยนี้ให้เราไปดูเถอะ พอขึ้นเพลงได้แล้วก็เร็วไปเลย แต่ไม่รู้ว่าเพลงอะไร ไม่รู้รายละเอียด ไม่รู้พื้นฐาน ทำไมไม่มีสะเดาะ ทำไมไม่มีสะบัด มันคนละชั้นกัน ถึงบอกว่าเด็กรุ่นนี้ ถ้าประชันกับครูอย่างตอนอายุ ๒๐ กว่าๆ ไม่เกิน ๔ ทุ่มหรอก เสร็จทุกราง”
ด้านชีวิตการทำงาน บันทึกเป็นหมายเหตุว่า ครูทัศนัย พิณพาทย์ เข้ารับราชการตำแหน่งคนระนาดเอกในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
“ตอนนั้นที่ครูเข้ารับราชการ หัวหน้าวงก็คือ ครูระตี วิเศษสุรการ ท่านเป็นหัวหน้าแผนก ในยุคนั้นมีแต่ครูเก่าๆ ทั้งนั้น ครูสมาน ทองสุโชติ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ตอนนั้นที่อยู่ด้วยกันนะ มีครูฉลวย จิยะจันทร์ ครูสุจิตต์ ดุริยประณีต แล้วก็อีกหลายท่าน”
“ก็ดีบ้างสุขบ้าง แต่เหนื่อยนะ เพราะว่าเราตีคนเดียว แล้วต้องทำเพลงด้วย มีงานหลายประเภท อย่างเช่นวงสักวาก็ไปบ่อย เป็นวงเล็กๆ ครูเป็นคนตีระนาด ครูสุจิตต์ร้อง แล้วก็มีอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไปงานสักวาเฉลิมพระเกียรติบ้าง ไปทั่วประเทศนะ แต่ส่วนมากงานที่เรารับก็จะเป็นดนตรีประสมของวงดนตรีสุนทราภรณ์”
อีกบทบาทหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ เป็นอาจารย์พิเศษ ที่สาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครูทัศนัยเริ่มทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยรับหน้าที่สอนวิชาทักษะดนตรี ๕ – ๖ (ระนาดเอก) (ปัจจุบันเลิกสอนที่สถานศึกษาแห่งนั้นแล้ว)
นอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนของภาควิชาฯ ครูทัศนัยยังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการแสดงดนตรี “ครุศาสตร์คอนเสิร์ต” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี      ครูทัศนัยเป็นผู้ให้คำแนะนำ ลงมือต่อเพลง และปรับแนวทางการบรรเลงให้กับนิสิตทุกครั้งเมื่อมีการจัดคอนเสิร์ตประจำปี ไม่ว่าจะเป็นผลงาน รุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ ๒๗ “อสีติพรรษคีตราชัน” ควบคุมวงปี่พาทย์ไม้แข็งในเพลงทะแย เถา ครั้งที่ ๒๘ “เสนาะเสียงสำเนียงเพลงประเลงขับ: ทิพยดุริยางค์แห่งราชสำนักสยาม” เป็นผู้ปรับวงปี่พาทย์ไม้แข็งในชุดเพลงสำเนียงเสภาประชัน และผลงานครั้งล่าสุดที่ผ่านมา คือ ครุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ ๓๐ “ศรีศตพรรษ์ ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา” เป็นผู้ปรับวงปี่พาทย์ไม้แข็งในเพลงต่อยรูป ๓ ชั้น ออกเดี่ยวรอบวง












วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

ชิวประวัติครูประสงค์ พิณพาทย์





ประสงค์  พิณพาทย์




     
          นายประสงค์ พิณพาทย์ เป็นนักระนาดฝีมือดีคนหนึ่งของวงดนตรีไทย เกิดที่ตำบลบางปรอก จังหวัดประทุมธานี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ บิดาเป็นเชื้อชาติสายมอญ ชื่อเมี้นะ มารดาเป็นคนไทยชื่อบุญนาค บิดามารดามีอาชีพทำสวนและเป็นนักดนตรีสืบเชื้อสายดนตรีรามัญมาจากปู่คงพันและย่าโล่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูประสงค์จึงได้เรียนดนตรีกับบิดาตั้งแต่เล็ก มีพี่น้องท้องเดียวกันรวม ๘ คน เป็นนักดนตรีไทย ๖ คน คือ พี่สาวใหญ่ ชื่อสะอาด เป็นคนฆ้องเล็ก น้องชายชื่อ เล็ก เป็นรอบวง น้องชายชื่อ ชั้น เป็นคนเครื่องหนัง น้องชายชื่อ เชาว์และเบิ้ม ก็บรรเลงดนตรีไทยได้รอบวง เช่นเดียวกัน ส่วนน้องสาว
อีก ๒ คนชื่อตุ๊ และแจ๋ว ไม่เป็นดนตรี พี่น้องทั้งหมดนี้ยึดอาชีพเป็นนักดนตรีอยู่ที่จังหวัดประทุมธานี เมื่อยังเยาว์ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดหงสา จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เริ่มเรียนดนตรีไทยจากบิดาเมื่ออายุ ๑๐ ปี โดยเริ่มเรียนฆ้องมอญก่อน จนสามารถร่วมวงบรรเลงกับครอบครัวได้ เพลงที่ต่อจากบิดาส่วนมากเป็นเพลงมอญ ต่อมาจึงเรียนเพลงไทยเพิ่มเติมกับครูฝุ่น ระนาดเสนาะ (ยังมีชีวิตอยู่ ในปี ๑๕๑๕) ต่อเพลงสาธุการ โหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงช้า และเพลงเรื่องต่างๆ แล้งจึงมาเรียนทางระนาดโดยเฉพาะจากครูเฉลิม บัวทั่ง เริ่มต่อเดี่ยวต่างๆ จนได้ครบทุกเดี่ยว ในขณะเดียวกันก็เรียนหน้าทับกลองต่างๆจากครูเฉลิมด้วย พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้อุปสมบทที่วัดรังสิต โดยมีพระธรรมานุสาลี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้เข้ารับราชการในแผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกจาก หลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตรวิลัย) ครูประสงค์ เริ่มสอนดนตรีไทยแก่ผู้อื่นตั้งแต่อายุ ๒๘ ปี โดยสอนที่บ้านปทุมธานีและที่โรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนดาราคาม และโรงเรียนปทุมคงคา เป็นต้น ชีวิตครอบครัว แต่งงานกับนักร้องกรมประชาสัมพันธ์ชื่อ ทัศนีย์ ดุริยประณีต มีบุตรชายเพียงคนเดียว ชื่อ ทัศนัย (ติ๊ก) ตีระนาดฝีมือดีมาก บรรดาศักดิ์ที่ได้สอนไว้นอกจากทัศนัย พิณพาทย์แล้ว ยังมี ฉลวย และสมพร แววมณี (ฆ้อง) เป็นต้น ครูประสงค์ เป็นผู้มีฝีมือใรการตีระนาดได้ชื่อว่า ตีระนาดไม้นวมและมโหรีได้ไพเราะ ทางดีและเรียบร้อย ฝีมือระนาดเอกก็จัดอยู่ในระดับแนวหน้าคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ได้แต่งเพลงไทยสำเนียงมอญไว้หลายเพลง เพลงสุดท้ายที่แต่งคือ เพลง "บัวขาว" ทางมอญ โดยดัดแปลงจากเพลงบัวขาว ของคุณหญิง ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์ ฝีมือระนาดของครูประสงค์ พิณพาทย์ ได้มีการบันทึกเสียงเอาไว้มากมายที่คณะเสริมมิตรบรรเลง ทั้งเพลงตับ เพลงเถา เพลงละคร และเพลงเดี่ยว เคยนำวงดนตรีเข้าประชันที่วัดพะพิเรนทร์และได้โล่รางวัลเกียรติยศ ในปี ๒๕๒๕ นี้ยังทำหน้าที่เป็นคนระนาดประจำวงดนตรีเสริมมิตรบรรเลง ของนายเสริม สาลิตุปต






 เพลง ลาวแพน








เพลง ทยอยเดี่ยว


วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

ชีวประวัติครู ทัศนีย์ ดุริยประณีต (ทัศนีย์ พิณพาทย์)

                                              



    ครูทัศนีย์  ดุริยประณีต 
     (ทัศนีย์  พิณพาทย์)
  ครูทัศนีย์ พิณพาทย์ (ครูหรั่ง) เกิดวันเดือนปีใดยังไม่สามารถสืบค้นได้ ท่านเกิดที่บ้านดุริยะประณีตหลังวัดสังเวชวิศยาราม เมื่อปีฉลูซึ่งตรงกับพ.ศ..๒๔๖๘ เป็นธิดาของครูศุขและครูแถม ดุริยประณีต ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีไทยและมีกิจการค้าขายขายเครื่องดนตรีไทย ฉะนั้นบิดามารดาตลอดจนพี่น้องของท่านทั้งหมด จึงเป็นนักร้องและนักดนตรีไทยที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงมากทุกคน
        สืบเนื่องจากอดีตครูแถมมารดาได้ตั้งความปรารถนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า หากมีลูกชายขอให้เกิดมาเป็นนักดนตรี หากมีลูกสาวก็ขอให้เกิดมาเป็นนักร้อง ดังนั้นครูทัศนีย์จึงเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ในการขับร้องเพลงไทยที่เป็นเลิศดังคำอธิษฐานของมารดาทุกประการ เพราะเป็นผู้ที่มีน้ำเสียงไพเราะและมีรูปโฉมงดงาม ครูทัศนีย์ได้เรียนขับร้องเพลงไทยกับมารดาและพี่สาวคือครูสุดา เขียววิจิตรและครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ จนสามารถขับร้องเพลงไทยออกงานไปกับวงดนตรีที่บ้านได้เมื่ออายุเพียง ๘ ขวบ นอกจากนี้ก็ได้ช่วยเหลือกิจการค้าขายเครื่องดนตรีไทยของครอบครัว และมีหน้าที่เป็นแม่บ้านหุงหาอาหาร ไว้ต้อนรับผู้ที่เข้ามาเข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีกับบ้านดุริยะประณีต
        จนกระทั่งถึงพ.ศ.๒๔๙๒ กรมโฆษณาการได้จัดให้มีการประกวดขับร้องเพลงไทยขึ้น โดยแบ่งให้ผู้เข้าประกวดทั้งชายและหญิง โดยมีเจ้าพระยารามราฆพ เป็นประธานกรรมการตัดสิน ในครั้งนั้นครูทัศนีย์พร้อมกับครูสุดจิตต์ ดุริยะประณีตได้เข้าร่วมการประกวดด้วย ซึ่งผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ครูทัศนีย์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ส่วนผู้ที่ชนะเลิศฝ่ายหญิงนั่นก็คืออาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน(ศิลปินแห่งชาติ)
ถัดมาพ.ศ. ๒๔๙๖ พลโท มล.ขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ชักชวนให้ครูทัศนีย์มาสมัครเป็นข้าราชการที่วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ ตำแหน่งคีตศิลป์ไทย ครูทัศนีย์จึงเริ่มปฏิบัติหน้าที่ราชการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้สนองงานราชการต่าง ๆ ได้จนเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชาและเป็นที่รักใคร่ของผู้ร่วมงาน
        ผลงานที่ครูทัศนีย์ได้สร้างไว้กับวงดนตรีไทยและสากลกรมประชาสัมพันธ์ก็คือ การบันทึกแผ่นเสียงเพลงเขมรไทรโยก ซึ่งเป็นแผ่นเสียงครั่งสปีด ๗๘ บันทึกเสียงไว้กับห้างแผ่นเสียงตราสุนัขหน้าสีแดง โดยขับร้องเพลงเขมรไทรโยกสามชั้นแบบไทยแท้ร่วมกับวงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์ไว้อย่างไพเราะ ปัจจุบันแผ่นเสียงชุดนี้เป็นสิ่งที่หายากและควรอนุรักษ์ไว้ นอกจากนี้ได้บันทึกเสียงไว้กับคณะดุริยประณีตไว้หลายเพลงคือเพลงเขมรไทรโยก เพลงลาวดำเนินทราย เพลงสร้อยสนเต็ม เพลงโล้และเพลงระบำดาวดึงส์
        ครูทัศนีย์เป็นผู้ที่มีผลงานการบันทึกเสียงไว้น้อยมาก นอกจากแผ่นเสียงดังกล่าวแล้ว ท่านได้บันทึกเสียงไว้กับโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ซึ่งมจ.พูนศรี เกษมศรี เป็นผู้อำนวยการ โดยได้ขับร้องเพลงประกอบละคอนไว้มากมายอาทิ ตับพรหมาสตร์ ตับคนัง และเพลงเถาอีกหลายเพลง ซึ่งผลงานชุดนี้นับว่าเป็นการบันทึกเสียงที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น และไม่ปรากฏเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๙๘ ครูทัศนีย์ ดุริยะประณีตได้สมรสกับครูประสงค์ พิณพาทย์ (นักระนาดเอกไม้นวมและมโหรีที่มีชื่อเสียง) จนกระทั่งกลางพ.ศ.๒๕๐๐ จึงมีบุตรด้วยกัน ๑ คนคืออาจารย์ทัศนัย พิณพาทย์ ดุริยางคศิลปิน ๖ วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน
        ขณะที่ตั้งครรภ์อยู่นี้เองครูทัศนีย์ได้เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจ หลังจากที่ครูทัศนีย์ พิณพาทย์ ได้คลอดบุตรแล้วประมาณสามเดือน  ชื่อทัศนัย พิณพาทย์  ท่านก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายด้วยอายุเพียง ๓๒ ปี ศพของท่านได้ทำการฌาปนกิจ ณ. เมรุวัดสังเวชวิศยาราม


                 ตัวอย่างเสียงของ ครูทัศนีย์  ดุริยประณีต (ทัศนีย์  พิณพาทย์)














วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

ชีวประวัติหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)


   หลวงประดิษฐ์ไพเราะ      

    (ศร ศิลปบรรเลง)



หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2497) เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 เป็นบุตรของ นายสิน นางยิ้ม ศิลปบรรเลง บิดาของท่านคือครูสินเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
ในปี พ.ศ. 2443 ขณะเมื่ออายุ 19 ปี ท่านได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นที่ต้องพระทัยมาก จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่คนระนาดเอกประจำวงวังบูรพาไปด้วย พร้อมกับสมเด็จท่านได้ เชิญครูมาสอนที่วัง คือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เนื่องจากจางวางศร ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นอย่างมาก ทรงจัดหาครูที่มีฝีมือมาฝึกสอน ทำให้จางวางศรมีฝีมือกล้าแข็งขึ้นในสมัยนั้นไม่มีใครมีฝีมือเทียบเท่าได้เลย
จางวางศร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยรับราชการอยู่ในกรมกองใดมาก่อน ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือและความสามารถของท่าน เป็นที่ต้องพระหฤทัยนั่นเอง
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2469 ท่านได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง ท่านได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งมีส่วนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลงสามเพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา และ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น
เพลงที่หลวงประดิษฐไพเราะ ได้แต่งเพลงไว้มากกว่าร้อยเพลง ดังนี้:
       เพลงโหมโรง   โหมโรงกระแตไต่ไม้ โหมโรงปฐมดุสิต โหมโรงศรทอง โหมโรงประชุมเทวราช โหมโรงบางขุนนท์ โหมโรงนางเยื้อง โหมโรงม้าสะบัดกีบ และโหมโรงบูเซ็นซ๊อค เป็นต้น
เพลงเถา กระต่ายชมเดือนเถา ขอมทองเถา เขมรเถา เขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีเถา แขกขาวเถา แขกสาหร่ายเถา แขกโอดเถา จีนลั่นถันเถา ชมแสงจันทร์เถา ครวญหาเถา เต่าเห่เถา นกเขาขแมร์เถา พราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา มุล่งเถา แมลงภู่ทองเถา ยวนเคล้าเถา ช้างกินใบไผ่เถา ระหกระเหินเถา ระส่ำระสายเถา ไส้พระจันทร์เถา ลาวเสี่งเทียนเถา แสนคำนึงเถา สาวเวียงเหนือเถา สาริกาเขมรเถา โอ้ลาวเถา ครุ่นคิดเถา กำสรวลสุรางค์เถา แขกไทรเถา สุรินทราหูเถา เขมรภูมิประสาทเถา แขไขดวงเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา กราวรำเถา ฯลฯ


เพลง โหมโรงปฐมดุสิต

                หลวงประดิษฐไพเราะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 รวมอายุ 73 ปี  ชีวประวัติของท่านเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2547 และได้รับการดัดแปลงซ้ำเป็นละครโทรทัศน์ซึ่งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อ พ.ศ. 2555


ภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง




วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

ประวัติดนตรีไทย

     ดนตรีไทย  ป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่าง ๆ      เช่น อินเดียจีนอินโดนีเซีย และอื่น ๆ เครื่องดนตรีมี 4 ประเภท ดีด สี ตี เป่า




ประวัติดนตรีไทย  นสมัยกรุงสุโขทัย ดนตรีไทยมีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่น วรรณคดี "ไตรภูมิพระร่วง" กล่าวถึงเครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉิ่ง แฉ่ง (ฉาบ) บัณเฑาะว์ พิณ ซอ ปี่ไฉน ระฆังกรับ และกังสดาล
สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวงปี่พาทย์ที่ยังคงรูปแบบปี่พาทย์เครื่องห้าเหมือนเช่นสมัยกรุงสุโขทัย แต่เพิ่มระนาดเอกเข้าไป นับแต่นั้นวงปี่พาทย์จึงประกอบด้วย ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนวงมโหรีพัฒนาจากวงมโหรีเครื่องสี่ เป็นมโหรีเครื่องหก เพิ่มขลุ่ย และรำมะนา รวมเป็นมี ซอสามสาย กระจับปี่ ทับ (โทน) รำมะนา ขลุ่ย และกรับพวง
ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากรัชกาลที่ 1 เพิ่มกลองทัดเข้าวงปี่พาทย์อีก 1 ลูก รวมเป็น 2 ลูก ตัวผู้เสียงสูง ตัวเมียเสียงต่ำ รัชกาลที่ 2 ทรงพระปรีชาสามารถการดนตรี ทรงซอสามสาย คู่พระหัตถ์คือซอสายฟ้าฟาด และทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทย บุหลันลอยเลื่อน รัชสมัยนี้เกิดกลองสองหน้าพัฒนามาจากเปิงมางของมอญ พอในรัชกาลที่ 3 พัฒนาเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มคู่กับระนาดเอก และฆ้องวงเล็กให้คู่กับฆ้องวงใหญ่