วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

ชีวประวัติครู ทัศนัย พิณพาทย์


 ครูทัศนัย  พิณพาทย์




"หากปืนผาหน้าไม้ในมือทหารผู้กล้า คือเครื่องมือรักษาและป้องกันอาณาเขตประเทศให้สงบสุข เครื่องดนตรีไทยก็ไม่ต่างอะไรกับอาวุธทางปัญญา ที่คนดนตรีใช้เป็นเครื่องมือรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทยให้ยืนหยัดอย่างมั่นคงทั้งยังเป็นเครื่องประลองความรู้และชั้นเชิงด้านงานศิลป์ของคนดนตรีไทยอีกด้วย"

        เป็นเวลากว่า ๔๐ ปี ที่ชีวิต “ครูทัศนัย พิณพาทย์” ยังคงมีลมหายใจเข้าออกเป็นดนตรีไทยเสมอมา และมีระนาดเอกเครื่องดนตรีคู่ใจ เป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนบนถนนสายดนตรี จนปัจจุบันกล่าวได้ว่า ครูเป็นหนึ่ง “ดาวนักระนาด” ที่ค้างฟ้าส่องประกายประดับสังคมดนตรีไทย

   ต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตผู้เป็นทายาท ๒ ตระกูลนักดนตรีไทย ตระกูล “พิณพาทย์” และตระกูล “ดุริยประณีต”

“ครูเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เกิดวันศุกร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ คุณพ่อชื่อ พ่อประสงค์ พิณพาทย์ คุณแม่ชื่อ แม่ทัศนีย์ ดุริยประณีต พอลืมตาดูโลกก็เกิดมาทามกลางเสียงดนตรีไทย เพราะตั้งแต่เด็กมาแล้ว อายุ ๔ – ๕ ขวบ จนถึง ๘ ขวบ ได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์มาตลอด” ครูเริ่มต้นบทสนทนาชีวิตด้วยเล่าถึงชาติกำเนิดของตนเอง   ปฏิเสธไม่ได้ ว่าสายเลือดดนตรีในตัวครูทัศนัย พิณพาทย์ หรือ “ป๋าติ๊ก” ที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่กำเนิด ถือได้ว่ามีความเข้มข้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเชื้อสายและเครือญาติทางฝั่งมารดาของครูทัศนัย ทุกท่านล้วนเป็นนักดนตรีที่มีทั้งความรู้ ฝีมือ และมีชื่อเสียงด้วยกันทุกท่าน ตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยายลงมาแล้ว รวมถึงมารดาผู้ให้กำเนิดด้วย เพราะเป็นนักร้องฝีคอดี ลงสมัครการประกวดขับร้องเพลงไทยระดับชาติในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้รับรางวัลที่ ๒ รองจากอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ทั้งยังมีผลงานการบันทึกแผ่นเสียงไว้อีกหลายเพลง     ส่วนบิดาเป็นนักระนาดเอก มีฝีมืออยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศไทยเช่นกัน ได้ชื่อว่าตีระนาดไม้นวมและมโหรีได้ไพเราะ แนวทางในการบรรเลงดี และมีผลงานการบันทึกเสียงไว้มากที่คณะเสริมมิตรบรรเลง  
 จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ครูทัศนัยจะเจริญรอยตามเส้นทางศิลปินอย่างที่บรรพบุรุษของท่านได้เคยปฏิบัติมา แต่ก็เป็นที่หน้าเสียดายยิ่ง ที่ครูทัศนีย์ไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความสำเร็จบนเส้นทางดนตรีของบุตรชายเพียงคนเดียวของท่าน เพราะ ๖ เดือนหลังจากที่ให้กำเนิดครูทัศนัยแล้ว ครูทัศนีย์เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน  ชีวิตการเรียนดนตรีไทยในวัยเด็ก ที่แวดล้อมไปด้วยบรรดาเครือญาติที่เป็นนักดนตรีไทยผู้เยี่ยมยุทธ์ รวมถึงครูผู้อาวุโสทางดนตรีไทยอีกหลายท่าน ที่มีความสัมพันธ์และต่างแวะเวียนเข้าออกบ้านดุริยประณีตอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมให้ครูทัศนัยได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถทางดนตรีไทยอย่างรุดหน้า 
ครูทัศนัยเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก โดยมี ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล หรือหม่อมตู๋ ครูคนสำคัญในชีวิตเป็นทั้งผู้ถ่ายทอดความรู้และเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมมาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้รอบวงปี่พาทย์ และเมื่ออายุย่างเข้า ๑๗ ปี จึงเริ่มเรียนระนาดเอกอย่างจริงจัง
“สมัยนั้นความจริงที่บ้านบางลำพูครูไม่ค่อยได้ไปอยู่ เพราะส่วนมากจะอยู่ที่บ้านพ่อตู๋ ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล คนนี้เป็นคนเลี้ยงครูมา เขามีความสัมพันธ์กับตาและยาย คือตาศุข ยายแถม ครูถือว่าพ่อตู๋แกเป็นคนเก่งคนหนึ่งนะ แต่เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบออกหน้าออกตา วิชาความรู้ไม่มีใครสู้แกหรอก เพลงมอญสามบ้านสี่บ้านพ่อแกได้หมด แกมีความรู้ทุกอย่าง ปี่ถึงเครื่องหนัง”
“พ่อตู๋เป็นคนดุ ครูโดนมาเยอะ แต่ก็ไม่ท้อ สมัยก่อนกับสมัยนี้ดนตรีไทยมันไม่เหมือนกัน สมัยนี้มันมีเทคโนโลยีเครื่องช่วยจำ แต่สมัยครูไม่มีอะไรเลย ใช้สมองอย่างเดียว ซ้อมก็ซ้อมเช้า ตื่นมาไล่ระนาดตั้งแต่ตี ๕ สมัยก่อนนั้นเวลาไล่ระนาดเขาจะจับเวลาด้วยการจุดธูป ครูเริ่มไล่ตั้งแต่ตี ๕ เวลาไม่เกิน ๖ โมงเช้าธูปก็หมดดอก แล้วปักต่อถึงประมาณ ๙ โมงเช้าก็เลิก กลางวันซ้อมเพลงเดี่ยว ตอนเย็นซ้อมเพลงหมู่ เหมือนเรากินข้าว ๓ มื้อ จนต่อมาเขาจับให้เราขึ้นประชัน”
นอกจาก ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล แล้ว ครูทัศนัยยังได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูอาจารย์อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นครูประสงค์ พิณพาทย์ (บิดา) ครูสอน วงฆ้อง ครูเทียบ คงลายทอง ครูสืบสุดและครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต
ชีวิตนักดนตรีไทยของครูทัศนัยเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อครูได้รับหน้าที่เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์คณะดุริยประณีต (บ้านบางลำพู) และชีวิตการเป็นศิลปินได้พุ่งทะยานขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีโอกาสขึ้นประชันครั้งแรกที่เวทีหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ นครปฐม ประชันกับครูทะนง แจ่มวิมล (กรมศิลปากร) และปลัดไพฑูรย์ ทวนทอง    หลังจากงานประชันครั้งแรกครั้งนั้น ครูทัศนัยยังขึ้นประชันปี่พาทย์อีกนับไม่ถ้วน ทั้งงานประชันในรูปแบบหน้าพระที่นั่งและงานประชันในรูปแบบชาวบ้าน แต่คู่ประชันในชีวิตครูทัศนัยที่ขับเคี่ยวศึกการประชันปี่พาทย์มาโดยตลอด และเป็นคู่ประชันที่ถูกอกถูกใจพ่อยกแม่ยกคอเพลงปี่พาทย์มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ครูสมนึก ศรประพันธ์”
ช่วงอายุระหว่าง ๑๙ – ๒๐ ปี ครูทัศนัยขึ้นเวทีประชันกับครูสมนึกถึง ๕ ครั้งด้วยกัน (ครั้งแรกที่วัดพิชัย เขตบางกะปิ ครั้งที่ ๒ ที่วัดบางขัน ครั้งที่ ๓ ที่สวนสัมพันธ์ ครั้งที่ ๔ ที่โรงละครแห่งชาติ (ประชันเดี่ยวเพลงแขกมอญ) และครั้งที่ ๕ ที่โรงละครแห่งชาติ (ประชันเดี่ยวเพลงกราวใน)
“กับสมนึกคู่ประชันคนนี้นะ เพราะอายุเราสองคนมันใกล้เคียงกัน อีกอย่างหนึ่งก็เรียนมาคนละสาย มันเหมือนมีแมวมองจับให้ครูตีกับเขา ตอนนั้นตีที่โรงละคร เดี่ยวเพลงแขกมอญ คนดูก็อยากจะดูคู่เราอีก แต่ก็รู้กันอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร อีกครั้งที่เดี่ยวเพลงกราวใน ตอนแรกอาจารย์เสรีท่านบอกว่า สนามนี้มันหนเดียวแล้วเลิก มันไม่ใช่สนามเขียงหมูนะ แต่ว่าครั้งนั้นเขาก็ยอมให้ เพราะท่าคู่นี้ขึ้นไปเมื่อไหร่ เขาว่าเขาเก็บสตางค์ได้เยอะ ตอนนั้นเก้าอี้เต็มหมด ทั้งเก้าอี้เสริม ข้างล่างข้างบน แต่สมนึกเขาก็ตีดีนะ มีรสมือ มีฝีมือ แต่ว่าทางเขามันอาจจะเรียบไปหน่อย”
ครูทัศนัยมีความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ส่วนสำคัญที่มีผลทำให้ตนเองได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงด้านระนาดเอก คือ “ทางระนาด” ที่ใช้บรรเลง เพราะโลดโผน เอาใจตลาด สามารถเข้าถึงผู้ชมผู้ฟังได้ง่าย  ช่วงที่ครูทัศนัยมีชื่อเสียงด้านการประชันระนาดเอกถึงขีดสุด ธรรมดาของคนหนุ่มไฟแรงย่อมต้องมี “แฟนคลับ” หรือแฟนเพลงที่คอยให้กำลังใจและติดตามผลงานถึงขอบเวทีประชันทุกครั้ง โดยไม่ให้พลาดแม้แต่นัดเดียว
“แม่ยกก็มีนะ ตอนนั้นที่ครูมีชื่อเสียง อายุประมาณ ๒๐ กว่าๆ สมัยนี้เค้ากรี๊ดดนตรีสากลกันอย่างไร สมัยนั้นเวลาครูไปตีที่ไหนเค้าก็กรี๊ดกันอย่างนั้น คอยตามไปเป็นกำลังใจตลอด แต่ว่าเราไม่เคยรู้จักเขาเลยนะ อย่างประชันที่วัดพระพิเรนทร์ คนมายืนชมเต็มไปหมดจนแทบจะขี่คอกัน ตบรางวัลกันก็มี ๕๐๐ บาท สมัยนั้นมันน้อยเสียเมื่อไหร่ล่ะ”
ปัจจุบันในฐานะนักดนตรีชั้นครู ผู้ผ่านสังเวียนประชันอย่างโชกโชน ครูทัศนัยมองนักระนาดเอกกับการประชันปี่พาทย์ในยุคนี้ ว่า
“ครูจะเปรียบระนาดในสมัยนี้ เขาไม่ทันคนสมัยก่อนเลยนะ พื้นฐานต่างๆ กลวิธีต่างๆ บรรพบุรุษครูสอนมาอย่างไร อย่างแรกเลยเราต้องมองว่าเพลงนี้เราควรจะตีอย่างไร เปรียบว่าเสภาอย่างเพลงพม่าห้าท่อน ท่อนแรกเราต้องมีสะเดาะ สะบัด ขยี้ พอสมัยนี้ให้เราไปดูเถอะ พอขึ้นเพลงได้แล้วก็เร็วไปเลย แต่ไม่รู้ว่าเพลงอะไร ไม่รู้รายละเอียด ไม่รู้พื้นฐาน ทำไมไม่มีสะเดาะ ทำไมไม่มีสะบัด มันคนละชั้นกัน ถึงบอกว่าเด็กรุ่นนี้ ถ้าประชันกับครูอย่างตอนอายุ ๒๐ กว่าๆ ไม่เกิน ๔ ทุ่มหรอก เสร็จทุกราง”
ด้านชีวิตการทำงาน บันทึกเป็นหมายเหตุว่า ครูทัศนัย พิณพาทย์ เข้ารับราชการตำแหน่งคนระนาดเอกในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
“ตอนนั้นที่ครูเข้ารับราชการ หัวหน้าวงก็คือ ครูระตี วิเศษสุรการ ท่านเป็นหัวหน้าแผนก ในยุคนั้นมีแต่ครูเก่าๆ ทั้งนั้น ครูสมาน ทองสุโชติ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ตอนนั้นที่อยู่ด้วยกันนะ มีครูฉลวย จิยะจันทร์ ครูสุจิตต์ ดุริยประณีต แล้วก็อีกหลายท่าน”
“ก็ดีบ้างสุขบ้าง แต่เหนื่อยนะ เพราะว่าเราตีคนเดียว แล้วต้องทำเพลงด้วย มีงานหลายประเภท อย่างเช่นวงสักวาก็ไปบ่อย เป็นวงเล็กๆ ครูเป็นคนตีระนาด ครูสุจิตต์ร้อง แล้วก็มีอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไปงานสักวาเฉลิมพระเกียรติบ้าง ไปทั่วประเทศนะ แต่ส่วนมากงานที่เรารับก็จะเป็นดนตรีประสมของวงดนตรีสุนทราภรณ์”
อีกบทบาทหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ เป็นอาจารย์พิเศษ ที่สาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครูทัศนัยเริ่มทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยรับหน้าที่สอนวิชาทักษะดนตรี ๕ – ๖ (ระนาดเอก) (ปัจจุบันเลิกสอนที่สถานศึกษาแห่งนั้นแล้ว)
นอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนของภาควิชาฯ ครูทัศนัยยังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการแสดงดนตรี “ครุศาสตร์คอนเสิร์ต” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี      ครูทัศนัยเป็นผู้ให้คำแนะนำ ลงมือต่อเพลง และปรับแนวทางการบรรเลงให้กับนิสิตทุกครั้งเมื่อมีการจัดคอนเสิร์ตประจำปี ไม่ว่าจะเป็นผลงาน รุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ ๒๗ “อสีติพรรษคีตราชัน” ควบคุมวงปี่พาทย์ไม้แข็งในเพลงทะแย เถา ครั้งที่ ๒๘ “เสนาะเสียงสำเนียงเพลงประเลงขับ: ทิพยดุริยางค์แห่งราชสำนักสยาม” เป็นผู้ปรับวงปี่พาทย์ไม้แข็งในชุดเพลงสำเนียงเสภาประชัน และผลงานครั้งล่าสุดที่ผ่านมา คือ ครุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ ๓๐ “ศรีศตพรรษ์ ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา” เป็นผู้ปรับวงปี่พาทย์ไม้แข็งในเพลงต่อยรูป ๓ ชั้น ออกเดี่ยวรอบวง